Drop Down MenusCSS Drop Down MenuPure CSS Dropdown Menu

สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำมีสุข
 
ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
( โรงเรียนผู้สูงอายุ )
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ฉบับที่    พ.ศ. ๒๕๖๑



คำปรารภและกิตติกรรมประกาศ
ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ ( โรงเรียนผู้สูงอายุ )
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย


รูปธรรมการกำหนดใจตนเองของชุมชนท้องถิ่น ที่กำหนดไว้ใน หมวดที่ ๑๔ ของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙
          ธรรมนูญสุขภาพ เป็นรูปแบบหนึ่งของนโยบายสาธารณะที่เกิดจากสังคมได้ตกลงปลงใจร่วมกันว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ธรรมนูญไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีอำนาจบังคับลงโทษ แต่ก็มีพลังอำนาจทางสังคมในการกำกับดูแลกันเองให้อยู่ในครรลองครองธรรม
          ธรรมนูญสุขภาพตำบล คือเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ที่ได้ประกาศให้รับรู้ทั่วกัน ทั้งภายในชุมชนและต่อคนภายนอก ว่าอยากเห็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนในด้านต่างๆ เป็นไปในทิศทางใด
          ธรรมนูญสุขภาพตำบลที่ดี มิใช่เอกสารหรือคำประกาศที่สวยหรู หากควรเป็นผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมผูกพันในการลงมือทำของคนทุกกลุ่มในชุมชนท้องถิ่น อันเป็นนโยบายสาธารณะของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
          อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญสุขภาพยังคงเป็นเพียงเครื่องมือที่สังคมสร้างขึ้นมาใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหา ภาวะแวดล้อมและองค์ความรู้ในยุคสมัยปัจจุบัน ต่อเมื่อสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระให้มีความเหมาะสม สอดคล้องและทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้และตัดสินใจร่วมกันด้วย
          ในนามของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระผมขอแสดงความชื่นชมยินดีที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในตำบลศรีค้ำได้ร่วมกันเรียนรู้ สานพลังปัญญาและกำหนดใจตนเองในการพัฒนาครั้งสำคัญ จนเกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลศรีค้ำฉบับนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนตำบลศรีค้ำจะสามารถใช้ธรรมนูญสุขภาพในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเราได้อย่างสมดุลยั่งยืน สร้างความรัก สามัคคี เจริญรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันตลอดไป

                                         นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ




คำนำ 

        เจตจำนงของธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ  อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ผู้สูงอายุมีการใช้ชีวิตแบบเห็นคุณค่าในตนเองอยู่เย็นเป็นสุขฉบับนี้ ได้มาจากการประชาคมสภาผู้สูงอายุหมู่บ้านในตำบลโดยการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ คณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ คณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ และคณะกรรมการพัฒนาตำบลเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการกำหนดเป้าหมาย นโยบายแผนงานโครงการ และยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนหมู่บ้านตำบล ที่ยั่งยืนเป็นกฎกติกา ฉันทามติ ข้อตกลง การอยู่ร่วมกันของผู้สูงอายุในศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ เป็นการนำฉันทามติไปขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำมีสุข ของผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยขั้นพื้นฐานของผู้คน มีความสมดุล ระหว่างวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตามหลักธรรมทางศาสนา วิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา และทรัพยากร อย่างเป็นธรรม ที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งเป็นการพึ่งตนเอง ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสังคมผู้สูงอายุที่เป็นพลวัตปัจจัยต่อข้อบัญญัติของธรรมนูญ สุขภาพผู้สูงอายุฉบับนี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
          การจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำฉบับนี้ ได้พัฒนาและอ้างอิงธรรมนูญ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพ ทุกหน่วยงาน องค์กรรวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกติการ่วมของชุมชน ดังนั้นธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ ฉบับนี้จึงเป็นการพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและขอน้อมรับข้อเสนอแนะ จากหน่วยงาน องค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาให้เหมาะสมต่อไป ขอขอบคุณ

คณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ



ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
( โรงเรียนผู้สูงอายุ )
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
****************
ฉบับที่   พ.ศ. ๒๕๖๑ 
          ด้วยคณะกรรมการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ สภาผู้สูงอายุตำบล คณะสงฆ์ตำบลศรีค้ำ สภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาองค์การปกครองท้องที่ สภาวัฒนธรรมสภาองค์กรชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กองทุนสวัสดิการชุมชน หน่วยงานภาครัฐเครือข่าย อสม. อพม. อผส. อปพร. กศน.ตำบล กศน.อำเภอแม่จัน องค์กรประชาสังคม องค์กรประชาชน และองค์กรเอกชน ได้จัดทำประชาคม ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ฉบับที่ ๑ ขึ้น ซึ่งสภาผู้สูงอายุตำบล ประชาชน กลุ่มองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกันลงประชามติเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติ ให้ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับนี้เป็นเครื่องมือ ในการบูรณาการแผนงาน โครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่สังคมผู้สูงอายุตำบลที่มีความสุขตามแนวคิด “สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำ มีสุข” ที่ยั่งยืนต่อไป

นิยามศัพท์ในธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
          สุขภาพ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้ง ทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา และทางสังคม สิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกัน เป็นองค์กรรวมอย่างสมดุล
          ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
         ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ หมายถึง สถานที่มีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ภูมิปัญญา และทำกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกัน
          ชุมชนตำบลท้องถิ่น หมายถึงกลุ่มบ้าน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล
          การจัดการตนเอง หมายถึงการบริหารจัดการทุนชุมชนตำบล ที่นำมาขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งทุนคน ทุนทรัพยากร ทุนชุมชน เพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนตนเอง ไปสู่การอยู่รอดปลอดความสุข มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีภูมิคุ้มกันทางสังคม ปัญญา สามารถพึ่งพาตนเองได้
          ตำบลอยู่เย็นเป็นสุข หมายถึง ประชาชนในหมู่บ้านตำบลมีความสามัคคีที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ หลักศาสนาวัฒนธรรมจารีตประเพณี และวิสัยทัศน์ของชุมชนตำบล ที่มีความร่มเย็นเป็นสุข
        การมีส่วนร่วม หมายถึง ทุกภาคส่วนในชุมชนตำบล ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาความต้องการของส่วนรวมหรือ
สาธารณะอย่างแท้จริง ในมิติสังคมวัฒนธรรมประเพณี ที่เป็นกระบวนการประชาคม ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับประโยชน์ในรูปแบบกลุ่มหรือองค์กร ชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์เป้าหมายร่วม อย่างชัดเจน
          ฉันทามติ หมายถึง ความเห็นพ้องต้องกัน เป็นประชามติในภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน



หมวด ๑
ปรัชญา แนวคิด และเจตนารมณ์ ของธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ ( โรงเรียนผู้สูงอายุ ) 
          ข้อ ๑ สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้สูงอายุซึ่งต้องได้รับการส่งเสริม และพัฒนาอย่าง เป็นองค์รวมครอบคลุมทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันอย่างสมดุล บนพื้นฐานของวิถีชุมชน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้สูงอายุมี “สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำ มีสุข ”
          ข้อ ๒ เจตจำนง ของธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อผู้สูงอายุมี “สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำมีสุข ”ภายใต้แนวคิด สุขภาพองค์รวม กองทุนหลักประกันสุขภาพ และธนาคารความดีผู้สูงอายุ เป็นกรอบแนวทาง ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ดังนี้
          (๑) เพื่อการนำฉันทามติ ไปขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะผู้สูงอายุภายใต้แนวคิด “สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำมีสุข ” ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยขั้นพื้นฐานการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุตามหลักธรรมของศาสนา สังคม วัฒนธรรมประเพณี เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน และธนาคารความดีผู้สูงอายุ
          (๒) เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ สร้างความตระหนักถึงสิทธิชุมชนร่วมกัน หลอมรวมจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นพลเมือง โดยมองที่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อสาธารณะ และสังคมส่วนรวม

หมวด ๒
การส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน
เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุที่พึงประสงค์ 
          เป็นการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่ครอบคลุมสุขภาพรวม ๔ ด้านคือ กาย ใจ ปัญญา และสังคมสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับการบริการสุขภาพของรัฐและวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชนตำบลเพื่อการพัฒนาไปสู่สังคมสุขภาวะ
          ข้อ ๓ พัฒนาระบบสุขภาพของผู้สูงอายุ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พ.ร.บ.หลักประสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ พ.ร.บ.สวัสดิการสังคม พ.ศ.๒๕๔๖ และพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑
          ข้อ ๔ กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลศรีค้ำ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีค้ำ กองทุนสวัสดิการชุมชน และองค์การทุกภาคส่วนให้ใช้ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับนี้ เป็นเครื่องมือ และแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาตำบล ข้อบัญญัติท้องถิ่น และโครงการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ
          ข้อ ๕ ส่งเสริมพฤติกรรม ค่านิยมสุขภาพดี ตามแนวคิดสุขภาพองค์รวมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากผู้สูงอายุ ครอบครัว และชุมชนต่อไป
          ข้อ ๖ ส่งเสริมโครงการรักษ์สุขภาพ มีการตรวจวัดความดันโลหิต เบาหวาน สายตาและสุขภาพปาก ฟัน ของผู้สูงอายุและคนในครอบครัว
          ข้อ ๗ การดูแลความสะอาด ตั้งแต่เล็บมือ เล็บเท้า การล้างหน้า แปรงฟัน ตัดผม และการแต่งกายที่ สะอาดเรียบร้อยและเหมาะสมตามวัย ตามกาลเทศะ
          ข้อ ๘ ส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีโครงการส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมรำไม้พลอง ปั่นจักรยาน
          ข้อ ๙ ส่งเสริมให้ผู้อายุประกอบอาหารและรับประทานอาหารปลอดภัย ที่รสไม่จัด ไม่หวานจัด ไม่มันจัด ไม่เค็มจัด และปลอดสารเคมี
          ข้อ ๑๐ ให้งดเว้นการดื่มสุรา น้ำอัดลม ยาสูบ บุหรี่ และยาเสพติดทุกชนิด

หมวด ๓
การพัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ
และการควบคุมป้องกันภาวะคุกคามต่อสุขภาพผู้สูงอายุ 
          เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสวัสดิการสังคม ตาม พ.ร.บ.สวัสดิการสังคม พ.ศ.๒๕๔๖ โดยการประหยัด ออมเงิน การช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน การจัดสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ผู้ขาดโอกาสและด้อยโอกาสทางสังคม ผู้ยากไร้ ทุนการศึกษาเด็กเยาวชนและพัฒนาอาชีพ
          ข้อ ๑๑ ให้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันภัยคุกคามทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมทุกประเภท ให้กับผู้สูงอายุ
          ข้อ ๑๒ ให้ความรู้ความเข้าใจ และวิธีการปฏิบัติตนกับผู้สูงอายุ เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกวิธี และการลดการเผา ในบ้าน ในทุ่งนา ไร่สวน ในป่า เพื่อลดหมอกควันอันตรายต่อสุขภาพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี โดยให้ใช้วิธีการที่เหมาะสม
          ข้อ ๑๓ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นสมาชิก และมีสิทธิประโยชน์ในกองทุนสวัสดิการชุมชน
          ข้อ ๑๔ ผู้สูงอายุที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และคนพิการ สมควรได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ด้านสวัสดิการสังคมและการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพ ศูนย์พัฒนาครอบครัว(ศพค.)โรงเรียนผู้สูงอายุ สภาผู้สูงอายุ สภาวัฒนธรรม และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
          ข้อ ๑๕ ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนผู้สูงอายุกองทุนสวัสดิการชุมชน บูรณาการกองทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อน และตอบสนองสิทธิประโยชน์ให้สมาชิก อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
          ข้อ ๑๖ ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแล และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
          ข้อ ๑๗ ผู้สูงอายุ ลดการซื้อยาชุดจากร้านค้า หรือพ่อค้า แม่ค้าเร่ ในชุมชน
          ข้อ ๑๘ ส่งเสริมโครงการเยี่ยมบ้านเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้สูงอายุด้วยกันที่มีภาวะ เจ็บป่วย ทุพลภาพ ติดบ้าน ติดเตียงและลำบากยากไร้


หมวด ๔
การสร้างเสริมสุขภาพ ด้านศาสนา ศีลธรรมคุณธรรม จริยธรรม
วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา 
          การดำเนินวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ ตามหลักศาสนา ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาและทรัพยากรชุมชน ตาม พ.ร.บ. สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ แนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ธรรมนูญวัฒนธรรม และธนาคารความดี
          ข้อ ๑๙ ให้ผู้สูงอายุปฏิบัติศาสนกิจที่บ้านทุกวัน เช่น การถวายข้าวพระทุกเช้า การรักษาศีล ๕ การทำบุญตักบาตร และการสวดมนต์ไหว้พระ การทำสมาธิ การแผ่เมตตา ก่อนนอนทุกคืน
          ข้อ ๒๐ ให้ผู้สูงอายุอนุรักษ์ เผยแพร่ ฟื้นฟู สืบสาน ถ่ายทอด ภาษาเมือง และอนุรักษ์ไว้ซึ่งภาษา เช่น การพูด การเขียนภาษาเมืองให้เป็นแบบอย่างแก่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชุมชน
          ข้อ ๒๑ ให้แต่งกายชุดขาว ไปร่วมทำบุญงานบุญ งานปอยทุกครั้ง และสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายของท้องถิ่น
          ข้อ ๒๒ ให้อนุรักษ์ เผยแพร่ ฟื้นฟู สืบสาน ถ่ายทอด ภูมิปัญญาและแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีชุมชน และประวัติศาสตร์ชุมชนที่ดีงามให้ลูกหลานทราบและปฏิบัติตามเช่น ปฏิบัติธรรมสวดกัมมัฏฐานสัญจร สวดมนต์ข้ามปี ตักบาตรเป็งปุ้ด กิจกรรมแห่พระวันผู้สูงอายุ ข่วงผญ๋า อุ้ยสอนหลาน งานปอย งานตานก๋วยสลากภัต ประเพณี ๑๒ เดือน การสืบชะตา การแต่งดาครัวตาน การสู่ขวัญ ฮ้องขวัญ เป็นต้น

หมวด ๕
การส่งเสริมผู้สูงอายุดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
          เป็นการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ในการพึ่งตนเองบนฐานปัจจัยเศรษฐกิจชุมชน ที่สอดคล้องกับ วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และทรัพยากรชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมดุล
          ข้อ ๒๓ ส่งเสริมผู้สูงอายุปลูกผักสวนครัว ไว้กินเอง เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เป็นต้น
          ข้อ ๒๔ ส่งเสริมครอบครัวผู้สูงอายุ มีการทำนา ทำเกษตรกรรมที่ปลอดภัย และการเพาะพันธุ์ข้าว โดยการลด ละ เลิก สารเคมีทางเกษตร ให้ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ชีวภาพ เกษตรกรรมชาติแทนเพื่อสุขภาพของทุกคน ลดการเจ็บป่วย จากสารเคมี และลดต้นทุน การผลิต เป็นต้น
          ข้อ ๒๕ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ทักษะและภูมิปัญญาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำอาหาร ทำขนม ทำเครื่องจักสาน และอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้
          ข้อ ๒๖ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ภูมิปัญญาสุขภาพพื้นบ้านการบริการผสมผสานกับการแพทย์แผนไทย เชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ ศูนย์การเรียนรู้บริการการแพทย์พื้นบ้าน และสมุนไพร(หมอเมือง) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาวัฒนธรรม และศูนย์สุขภาพชุมชน
          ข้อ ๒๗ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปลูกและใช้สมุนไพร เพื่อสุขภาพเป็นอาหารและยา โดยให้หมอเมือง ผู้สูงอายุ สนับสนุนองค์ความรู้
          ข้อ ๒๘ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่า ปลูกป่า บวชป่าชุมชน เพื่ออนุรักษ์ทัพยากรสิ่งแวดล้อม

หมวด ๖
สังคมผู้สูงอายุการเรียนรู้เพื่อ 
          ให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เหมาะสมกับสภาพพลังคมในปัจจุบัน โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีค้ำ  สภาองค์การชุมชน สภาวัฒนธรรม กศน.ตำบลศรีค้ำ โรงเรียนผู้สูงอายุ กองทุน สวัสดิการชุมชนและศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ผู้สูงอายุ ส่งเสริมประชาชน ในการสร้างปัญญา องค์ความรู้ การเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
          ข้อ ๒๙ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูล ความรู้และการใช้ข้อมูลข่าวสารสนเทศด้านต่างๆ ได้โดยง่ายในหลายช่องทางเพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขด้วย “สุขภาพดี มีคุณธรรม ศรีค้ำมีสุข ”
          ข้อ ๓๐ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดการพึ่งพาด้านจิตใจ ลดความเหงา ให้โอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้านจิตปัญญา
          ข้อ ๓๑ ส่งเสริมผู้สูงอายุศึกษาการใช้แอพริเคชั่นบนสมาร์ทโฟน การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นไปตามความต้องการและตามอัธยาศัยของผู้สูงอายุ

หมวด ๗
บทเฉพาะกาล 
          ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ฉบับนี้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตปัจจัยต่อข้อบัญญัติของธรรมนูญ จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไข ดังนี้
          ข้อ ๓๒ การยื่นขอแก้ไข ปรับปรุงธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับนี้ ต้องประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของคณะกรรมการสภาผู้สูงอายุ สภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาองค์การปกครองท้องที่ และสภาองค์กรชุมชน เมื่อคณะกรรมการรับไว้พิจารณาแก้ไข ต้องมีองค์ประชุมพิจารณาไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการ
          ข้อ ๓๓ การขอแก้ไขเพิ่มเติม ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ฉบับนี้ ให้ดำเนินการเสมือนการจัดทำ หรือ ผ่านประชาคมชุมชนตำบล และ สภาผู้สูงอายุ ในการยื่นเสนอ ต้องดำเนินการโดยยึดหลักเหตุผลความจำเป็น และเป็นประโยชน์ที่จะบังเกิดกับผู้สูงอายุ ตามความเหมาะสม
          ข้อ ๓๔ ให้สำนักธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ การประสานงาน และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ





ที่ปรึกษา คณะกรรมการ และกองงานเลขานุการ
ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
( โรงเรียนผู้สูงอายุ )
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ที่ปรึกษา
๑.     เจ้าคณะอำเภอแม่จัน
๒.     เจ้าคณะตำบลศรีค้ำ
๓.     นายอำเภอแม่จัน
๔.     สาธารณสุขอำเภอแม่จัน
๕.     กำนันตำบลศรีค้ำ
๖.     นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๗.     ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่จัน

คณะกรรมการอำนวยการ
๑.     พระครูนิวิฐบุญเขต เจ้าคณะตำบลศรีค้ำ
๒.     นางธนพร  วังเมือง  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๓.     นายสมจักร  อินต๊ะใหม่  รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๔.     นายจตุรัฐชัย  จินตนาสิทธิกุล  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๕.     นายวรจักร  วงค์ลังกา  รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๖.     ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีค้ำ
๗.     กำนันตำบลศรีค้ำ
๘.     ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน
๙.     ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่จัน
๑๐.            สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
๑๑.            ประธานชมรม อสม.ตำบลศรีค้ำ

คณะกรรมการ มีหน้าที่
๑.     มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะในร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ
๒. นำร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาตำบล สภาองค์การปกครองท้องที่ตำบล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภาองค์กรชุมชนตำบล สภาวัฒนธรรมตำบล สภาผู้สูงอายุตำบลสภาหมอเมืองตำบล หน่วยงานรัฐ ภาคีเครือข่าย เพื่อให้ข้อคิดเห็นและความเห็นชอบต่อร่างธรรมนูญ
๓. มีส่วนร่วมจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุและประชาชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ โดยฉันทามติเห็นพ้องต้องกัน ที่จะพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ตำบลศรีค้ำ
๔. เป็นหลักในการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ประชาชน และกลุ่มองค์กรเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันต่อไป


โครงสร้างครูผู้สอน
คณะกรรมการกองงานเลขานุการ
         ๑.  พระครูประภาสพนารักษ์   รองเจ้าคณะตำบลศรีค้ำ
         ๒.  คณะสงฆ์ทุกวัดในตำบลศรีค้ำ
         ๓.  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีค้ำ
         ๔.  ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
         ๕.  คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
         ๖.  ประธานนักเรียนศูนย์เรียนรู้ชุมชนผู้สูงอายุตำบลศรีค้ำ
         ๗.  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
         ๘.  รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
         ๙.  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลศรีค้ำ
         ๑๐.  หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
        ๑๑. เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
        ๑๒. นักพัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีค้ำ
        ๑๓. ประธาน อสม. ตำบลศรีค้ำ

        ๑๔. ครู กศน. ตำบลศรีค้ำ

คณะกรรมการกองงานเลขานุการ มีหน้าที่
๑.     เป็นกองเลขานุการ
๒.     ประสานงาน
๓.     ยกร่างธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ
๔.     จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการ
๕.     ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ไปสู่การปฏิบัติในระดับบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชน
เครือข่าย และชุมชนตำบล
๖.     ทำหน้าที่ตามที่คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการอำนวยการแนะนำและมอบหมาย


“ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ”
หมวดที่ ๑๔ ของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๑ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

หลักการสำคัญ
ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นข้อตกลงร่วมในการกำหนดทิศทางหรือแนวปฏิบัติอันจนนำไปสู่สุขภาวะของชุมชน โดยชุมชนสามารถจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ตามความสมัครใจและตามความพร้อมของชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐควรให้การสนับสนุนและเข้ามามีส่วนร่วมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน วิถีชุมชน วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคมของชุมชน ข้อมูลสุขภาพชุมชนและหลักการจัดการระบบสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำ ขับเคลื่อน ทบทวนและประเมินผลธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน

ภาพพึงประสงค์
ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีที่เกี่ยวข้อง ทุกภาพส่วนเข้าใจและสามารถนำสาระในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติไปปรับใช้ในการจัดธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบสุขภาพ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่เป็นแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผ่านกลไก และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อกับการพัฒนาระบบสุขภาพ โดยมีระบบติดตาม ทบทวน และประเมินผลธรรมนูญสุขภาพพื้นที่เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายธรรมนูญสุขภาพพื้นที่เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่ เพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและขยายผลการจัดการระบบสุขภาพชุมชนให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่อื่นๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น