Drop Down MenusCSS Drop Down MenuPure CSS Dropdown Menu

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุ



การนอนหลับ หมายถึง สภาวะที่ไม่รับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยาที่ซับซ้อนสอดคล้องกับจังหวะการทำงานและการทำหน้าที่ของร่างกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต มนุษย์ใช้เวลาหนึ่งในสามของเวลาทั้งหมดในชีวิตไปกับการนอนหลับซึ่งความต้องการการนอนหลับของแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากันเนื่องจากมนุษย์มีวงจรการนอนหลับหมุนเวียนเป็นวงจรในรอบ 24 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์กับความมืด ความสว่าง และ อุณหภูมิของร่างกายที่ถูกควบคุมโดยเซลล์ประสาทในสมอง โดยระยะเวลาของการนอนหลับจะแตกต่างกันตามวัยหรือช่วงอายุของบุคคลและลดน้อยลงตามวัยของอายุที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้สูงอายุมีความต้องการการนอนหลับประมาณ  6.5 ชั่วโมงต่อวัน จากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับพบว่าระยะเวลาของการนอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอนหลับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยสูงอายุซึ่งมีรายงานการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนได้รับความทุกข์ทรมานจากการนอนไม่หลับและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวมากกว่าร้อยละ 50


   การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่งจากความเข้าใจดั้งเดิมที่ว่าผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับน้อยกว่าบุคคลวัยอื่นๆนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะการที่ผู้สูงอายุนอนหลับได้น้อยเนื่องจากผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องแบบแผน  การนอนที่เปลี่ยนไป เช่น เมื่อเข้านอน เดิมเดี๋ยวเดียวก็หลับเปลี่ยนเป็นกว่าจะหลับก็ใช้เวลานาน หรือ เมื่อหลับแล้วเดิมเคยหลับติดต่อกันรวดเดียว  7-8  ชั่วโมง จึงตื่นทีเดียวเปลี่ยนเป็นมีการตื่นคั่นระหว่าง 7-8  ชั่วโมงบางทีก็ครั้งหรือ สองครั้งแล้วจึงหลับต่อ เมื่อจะหลับต่อก็มักจะหลับยากหรือ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเวลาการตื่น เช่น เดิมตื่น 6 โมงเช้า ก็เปลี่ยนเป็นตื่นตี 5 แล้วนอนต่อแต่ไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่แก้รำคาญ    การนอนไม่หลับของผู้สูงอายุไม่ใช่มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่รู้สึกรำคาญตนเอง อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัวของผู้สูงอายุอีกด้วย

   ปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุเกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ได้แก่ สาเหตุด้านร่างกาย ด้านจิตใจอารมณ์  และด้านสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุด้านร่างกาย 
ได้แก่ ความสูงอายุ ซึ่งทำให้มีการเสื่อมสภาพและการลดลงของ
เซลล์ประสาทในสมอง ที่ควบคุมการนอนหลับ ความเจ็บปวดจากการผ่าตัด การอักเสบ อุบัติเหตุ และโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าท์ โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น ความไม่สุขสบาย จากท่านอน ลักษณะของเตียงและที่นอน การถ่ายปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การหายใจลำบากจากโรคอ้วน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษา โรคประจำตัวของผู้สูงอายุ เช่น ยาบาบิทูเรต ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดลม และยาต้านอาการเศร้า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น สุรา ชา กาแฟ โคลา ช็อคโกแลต และ การสูบบุหรี่

2. สาเหตุด้านจิตใจและอารมณ์ 
ได้แก่ อารมณ์เศร้าจากการใช้ยารักษาโรคทางกายต่างๆเช่นโรคเบาหวาน โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจ เป็นต้น ความเครียดและความวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และสังคม ความรู้สึกสูญเสียความสามารถของตนเองจากการเคยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำให้กับคนอื่น การเป็นที่ยอมรับและยกย่องจากคนข้างเคียงเพื่อนฝูงหรือ สังคม การขาดที่พึ่ง เช่น บุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ใกล้ชิด เพื่อนสนิทถึงแก่กรรม เป็นต้น นอกจากนี้สุขภาพ ไม่แข็งแรงพอ ที่จะปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ ขาดการติดต่อไปมาหาสู่กับผู้อื่น บุตรหลานก็เติบโตมีครอบครัวแยกย้ายกันไปทำให้เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เนื่องจากสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากระบบเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น พึ่งพาอาศัยกันน้อยลงครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก กลายเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ลำพังพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับความสนใจและการดูแลจากลูกหลาน นอกจากนี้ ภาระหน้าที่ทางสังคมที่ผู้สูงอายุเคยกระทำมาก็ขาดหายไปเนื่องจากเกษียณอายุหรือจากบุตรหลานไม่อยากให้ทำงานต่อไปด้วยความหวังดีว่าทำงานหนักมานานแล้ว สมควรที่จะพักผ่อนให้สบายซึ่งการขาดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในสังคมนี้ อาจเป็นเหตุให้กระทบต่อความรู้สึกในคุณค่าของผู้สูงอายุเอง ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เบื่อหน่าย แยกตัวและอาจเกิดความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่รบกวนการนอนหลับได้

3. สาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม 
ได้แก่ ความถี่และระดับความดังที่มากกว่า 80 เดซิเบล ของเสียงจากการจราจร เสียงวิทยุ เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม อุณหภูมิของห้องนอนที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ ความเข้มของแสงในธรรมชาติที่แตกต่างกัน เช่น แสงขมุกขมัว แสงจากหลอดไฟ แสงแดดจ้า กลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น กลิ่นขยะ กลิ่นน้ำเสีย กลิ่นอาหาร กลิ่นปัสสาวะ กลิ่นอุจจาระและกลิ่นสารเคมีต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้บุคคลร่วมห้องนอน เช่น สามีภรรยา บุตรหลานอาจรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุได้
การจัดการเพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ 
   การนอนหลับอย่างเพียงพอทั้งระยะเวลาและคุณภาพจะเป็นปัจจัยส่งเสริมสุขภาพที่ดี การนอนหลับจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพผ่อนคลาย  ดังนั้น เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุควรจัดการ ดังนี้
1. การจัดการด้านร่างกาย สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1.1ผู้สูงอายุควรนอนหลับและตื่นให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงเวลาใกล้เวลานอน
1.2 ผู้สูงอายุควรรับประทานยาเพื่อระงับหรือบรรเทาอาการ เช่น อาการปวด อาการหายใจลำบาก ไอ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดก่อนนอนประมาณ 30 นาที จะทำให้ผู้ที่มีอาการปวด นอนหลับได้
1.3 ผู้สูงอายุสามารถนวดตามร่างกายเพื่อลดอาการปวด และจะทำให้เกิดการผ่อนคลายนอนหลับได้
1.4 ผู้สูงอายุควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้านอนหรือจัดที่นอนให้อยู่อยู่ใกล้ห้องน้ำ หรือเตรียมกระโถนสำหรับปัสสาวะไว้ในห้องนอน
1.5 ผู้สูงอายุควรนอนในท่านอนที่เหมาะสม มีการเปลี่ยนท่านอนในท่าที่สุขสบายขึ้น เช่น เพิ่มหมอนหนุนศีรษะเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
1.6 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนตอนเย็นและก่อนนอน
1.7 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน
1.8 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน
1.9 ผู้สูงอายุควรดื่มนมอุ่นๆ ก่อนเข้านอนเพราะนมมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นยานอนหลับทางธรรมชาติ
2 การจัดการด้านจิตใจและอารมณ์ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 
2.3 ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมการผ่อนคลายโดย การนวดตามร่างกายเพราะพบว่าการนวดไทยประยุกต์สามารถลดอาการปวดศีรษะจากความเครียดได้
2.4 ผู้สูงอายุควรสวดมนต์ ทำสมาธิ อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน
2.3 ผู้สูงอายุควรฟังเพลงหรือเทปธรรมะก่อนนอน
2.4 ผู้สูงอายุควรใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การใช้จินตภาพ การฝึกการหายใจ
2.5 ผู้สูงอายุควรใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยามีผลต่อการคงสภาวะอารมณ์ที่เป็นปกติ
3 การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 
3.3 ผู้สูงอายุ ควรจัดห้องนอนและเครื่องนอนให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
3.4 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากเสียงรบกวนต่าง ๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรใช้ วัสดุอุดหูเพื่อลดเสียง
3.5 ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากแสงสว่างที่มีระดับความเข้มของแสงมากเกินไป โดยการปิดไฟ ปิดม่าน
   จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนเพื่อให้นอนหลับอย่างเพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณนั้นไม่ใช่สิ่ง ที่ยากหรือเป็นปัญหาไกลตัวสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับสามารถปฏิบัติตามวิธีการต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นได้แต่หากปัญหาการนอนหลับยังรบกวนและสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป  ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อค้นหาโรคต่าง ๆ    ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับซึ่งการค้นพบสาเหตุโดยเร็วจะทำให้การรักษาง่ายขึ้นมากกว่าการปล่อยปละละเลยจนอาการรุนแรงขึ้นเพราะจะทำให้การรักษายากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตนเพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของตนเอง



ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพได้นั้น  มีสาเหตุพื้นฐานที่สำคัญบางประการมาจากการที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง  พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ และจัดการด้าน  ที่อยู่อาศัยของตนเองได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การที่ผู้สูงอายุจะดำเนินชีวิตร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวอย่างมีความสุขทางใจได้นั้น  ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน  ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย  คู่สมรส ลูก หลาน ญาติ มิตร และผู้ดูแล   เป็นต้น

   บทความนี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอวิธีการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวโดยนำหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้ เพื่อให้การครองตนในครอบครัวของผู้สูงอายุดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
การครองตนในครอบครัวของผู้สูงอายุอย่างมีความสุขโดยวิธีการ “พ-อ-ส”
“พ-อ-ส” ย่อมาจากอักษรตัวแรกจากหลักธรรม 3 หมวดของพุทธศาสนา ได้แก่ “รหมวิหาร 4”   “ธิษฐาน 4”  และ “สังคหวัตถุ 4”  ซึ่งผู้เขียนได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว วิธีการ “พ-อ-ส”มีสาระสำคัญพอสรุปได้ตามลำดับ ดังนี้
1.  การมีธรรมประจำใจ 4 ประการของผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่  (พรหมวิหาร 4)
การมีธรรมประจำใจ4ประการของผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่  หรือ“พ4” ประกอบด้วย การมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขมอบให้เพื่อนมนุษย์-การมีความสงสาร-การมีความเบิกบานพลอยยินดี-การมีใจเป็นกลาง  ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องกับสมาชิกในครอบครัว  มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
1.1การมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขมอบให้เพื่อนมนุษย์ (เมตตา)  ผู้สูงอายุควรมีความปรารถนาดี  การมองกันในแง่ดี  ความเห็นใจ  ความห่วงใย  และการมีไมตรี  มอบให้แก่สมาชิก   ทุกคนในครอบครัวอยู่เสมอ  เพราะการมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นรากฐานก่อให้เกิดความปรองดองและความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว  นอกจากนั้นผู้สูงอายุควรมีความเต็มใจช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวทำภารกิจต่าง ๆ ตามอัตภาพ  และตามบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน  เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวได้ประโยชน์  และมีความสุข  ความสบาย

1.2 การมีความสงสาร (กรุณา) 
ผู้สูงอายุควรพยายามช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวทุกคนให้ผ่านพ้นจากความทุกข์ยาก เดือดร้อน ผู้สูงอายุควรดูแลเอาใจใส่สมาชิกในครอบครัวที่มีประสบการณ์น้อยหรือด้อยโอกาส ซึ่งจะช่วยผ่อนปรน หรือหลีกเลี่ยงความยากลำบากที่สมาชิกในครอบครัวเผชิญอยู่  อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมความมั่นคงทางจิตใจ  และสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถใช้รักษาตัวรอดได้ต่อไปในอนาคต หากสมาชิกในครอบครัวผู้ใดทำผิดพลาด ผู้สูงอายุก็ควรให้อภัยและให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น

1.3 การมีความเบิกบานพลอยยินดี (มุทิตา)
 ผู้สูงอายุควรประคับประคองจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน  ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวพบความก้าวหน้าทางการศึกษา หรือมีความสำเร็จจากการประกอบสัมมาชีพ หรือมีครอบครัวที่มั่นคง หรือมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในครอบครัว  ผู้สูงอายุควรแสดงความชื่นชมยินดีกับสมาชิกในครอบครัวผู้นั้นอย่างจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง  เพื่อจูงใจให้เขามุ่งมั่นก้าวสู่เป้าหมายอื่น ๆ ต่อไปอีก  จนพบกับความสำเร็จและมีความสุขเรื่อยไป  ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ไม่ควรละเลยที่จะสนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำชูสมาชิกในครอบครัวทุกคนให้พยายามก้าวสู่เป้าหมายที่ดีงามจนพบกับความสำเร็จและมีความสุขด้วยโดยถ้วนหน้า

1.4 การมีใจเป็นกลาง (อุเบกขา)
 ผู้สูงอายุควรพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงและปราศจากอคติ  แล้วปฏิบัติไปตามหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง  เที่ยงธรรม  โดยไม่หวั่นไหว  เช่น  ผู้สูงอายุควรยอมรับข้อดีและข้อด้อยของตนเองได้ตามความเป็นจริง  และยอมรับข้อดีและข้อด้อยของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนได้ตามความเป็นจริงเช่นเดียวกัน  ผู้สูงอายุควรยอมรับและเคารพในความแตกต่างของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนได้  รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกันด้วย 
2.  การมีหลักธรรม 4 ประการเป็นที่ยึดมั่นสำหรับปฏิบัติตาม  (อธิษฐาน 4)
การมีหลักธรรม 4 ประการเป็นที่ยึดมั่นสำหรับปฏิบัติ  หรือ  “อ4”  ประกอบด้วย  การใช้ปัญญา-การรักษาความสัตย์-ความยินดีเสียสละ-การหาความสุขสงบ มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
2.1 การใช้ปัญญา ผู้สูงอายุควรอยู่ร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวโดยใช้ปัญญาเหนืออารมณ์  เช่น  หากมีสิ่งใดที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว  ผู้สูงอายุก็สามารถเป็นที่ปรึกษาอาวุโสที่ได้รับการเคารพนับถือของคนในครอบครัว  มาช่วยเสนอแนะทางออกในการแก้ไขปัญหา  อุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ได้  โดยแนะนำวิธีคิดอย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ  การรู้จักนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาประกอบการตัดสินใจ  การยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกันอย่างเพียงพอ  และการมีวิธีการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด  เป็นต้น

2.2 การรักษาความสัตย์
 ผู้สูงอายุควรดำรงตนให้มั่นคงอยู่ในความจริงและรักษาความจริงกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน  เช่น  ผู้สูงอายุจะปฏิบัติกับสมาชิกในครอบครัวทุกคนด้วยความจริงใจ  ซื่อตรง  รักษาคำพูด  มีการปฏิบัติหรือการกระทำที่สอดคล้องกันกับการพูด  มีความน่าเชื่อถือ  ไว้วางใจได้  ผู้สูงอายุก็จะเป็นตัวแบบที่ดีให้สมาชิกในครอบครัวได้เห็น  ศรัทธา  และอยากทำตาม

2.3 ความยินดีเสียสละ
 ผู้สูงอายุควรยินดีเสียสละความสุขสบายเฉพาะของตนเองได้  เพื่อความสุขสบายของสมาชิกในครอบครัวส่วนรวม  ผู้สูงอายุควรมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  รู้จักการให้  การเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว  เพราะการเสียสละจะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดปีติ  มีเสน่ห์  และมีสุขภาพจิตดีขึ้น

2.4 การหาความสุขสงบ
 ผู้สูงอายุควรหาความสุขสงบทางจิตใจ  รู้รสของความสงบและสันติสุข  รู้จักทำจิตใจให้ผ่องใส  ไม่หลงใหลในวัตถุ  ลาบ  ยศ  สรรเสริญ  หมั่นอบรมขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วยการศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนา หรือการสวดมนต์  การทำสมาธิ  การคิดในเชิงบวก  และการปล่อยวาง  เป็นต้น  เมื่อผู้สูงอายุมีความสุขสงบทางจิตใจ  ย่อมเป็นการลดละความเครียดและความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว
3.  การมีธรรมยึดเหนี่ยวใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี
(สังคหวัตถุ 4)

การมีธรรมยึดเหนี่ยวใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี  หรือ  “ส4”   ประกอบด้วย  การแบ่งปัน-การพูดอย่างรักกัน-การทำประโยชน์แก่เขา-การเอาตัวเข้าสมาน  มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
3.1 การแบ่งปัน (ทาน) ผู้สูงอายุควรแบ่งปันลาภผลที่ได้มาหรือสะสมไว้ให้แก่สมาชิกในครอบครัวทุกคนอย่างถูกต้องและเป็นธรรม  ควรช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วยการให้ทรัพย์  สิ่งของ  รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีประโยชน์ให้ตามความเหมาะสม

3.2 การพูดอย่างรักกัน (ปิยวาจา)
 ผู้สูงอายุควรพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ  ไพเราะ  ชวนฟัง  ในการสนทนากับสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งผู้สูงอายุควรชี้แจงแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์  ชักจูงสิ่งที่ดีงามให้แก่สมาชิกในครอบครัว  ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว  โดยการพูดให้กำลังใจ   พูดให้เกิดความสบายใจและเกิดไมตรีที่ดีต่อกัน  ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีในระหว่างการสนทนากับสมาชิกในครอบครัวด้วย

3.3 การทำประโยชน์แก่เขา (อัตถจริยา) 
ผู้สูงอายุควรขวนขวายช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวเท่าที่จะทำได้  เช่น  ช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านที่ไม่หนักหรือซับซ้อน  ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนของครอบครัว  ช่วยฝึกฝนอบรมจริยธรรมให้สมาชิก      ผู้เยาว์วัยในครอบครัว  ช่วยดูแลต้นไม้  สัตว์เลี้ยง  และช่วยรับโทรศัพท์ให้สมาชิกในครอบครัว  เป็นต้น

3.4 การเอาตัวเข้าสมาน (สมานัตตตา)
 ผู้สูงอายุควรปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ดี  ไม่ปล่อยให้มีช่องว่างระหว่างวัย  ให้ความร่วมมือกับผู้อื่นได้  เคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน  ไม่เอาเปรียบ  ไม่เรียกร้องความสนใจ ความเห็นใจจากสมาชิกในครอบครัวจนเกิดความพอดีพองาม  ผู้สูงอายุควรร่วมสุข  ร่วมทุกข์  และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวโดยไม่ย่อท้อ  เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว  รวมทั้งผู้สูงอายุควรวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย  ปฏิบัติตัวสม่ำเสมอ  และให้ความเสมอภาคในครอบครัว
สรุปได้ว่า  การวางตนในครอบครัวอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุโดยวิธี “พ-อ-ส”  ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัว  จะเกิดประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุแต่ละคนมาก-น้อยเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุแต่ละคนจะนำวิธีการ “พ-อ-ส”  ทั้ง 12 ประการ ไปใช้ปฏิบัติจริงกับตนเองในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลสำเร็จที่พึงปรารถนา ความสุขในครอบครัวย่อมจะเกิดขึ้นกับตัวผู้สูงอายุเอง และสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยถ้วนหน้ากัน


ความเครียด คือ การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆ ไป ทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ ความเครียดเกิดจาก สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว และถ้าไม่สามารถปรับตัวได้จะทำให้เกิดความเครียด

หรืออีกนัยหนึ่ง ความเครียด คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้ตื่นเต้น เกลียด กลัว หรือความรู้สึกที่ไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ข้างต้นอาจเป็นแค่ความเครียดในระดับประจำวัน แต่ถ้าระดับความเครียดมีมากกว่าที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น มีการสูญเสีย การผิดหวัง หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ความเครียดนั้นก็จะกลายเป็นความทุกข์แสนสาหัสขึ้นมา และสามารถกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเจ็บป่วย จากระดับรุนแรงน้อยไปจนถึงป่วยหนักได้


สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด
1.ทางด้านร่างกาย เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงทำให้เกิดความเครียดได้ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ

2.ทางด้านจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่างๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือเป็นผู้ที่วิตกกังวลง่าย ขาดทักษะในการปรับตัว

3.ทางด้านสังคม มีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความบกพร่องในเรื่องของการปรับตัว ขาดผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลงไป มีสิ่งมากระตุ้นมากเกินความสามารถของตนเอง ความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ
จะทราบได้อย่างไรว่ามีความเครียดเกิดขึ้น
โดยปกติแล้วผู้ที่มีความเครียดเกิดขึ้นมักจะรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อ่อนเพลียเป็นเวลานาน ขาดสมาธิในการทำงาน หรือมีอาการทางด้านร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะเป็นประจำ
วิธีการขจัดความเครียดที่เหมาะสม
การขจัดความเครียดให้ได้ผล 100% นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีที่มาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำวิธีการผ่อนคลาย การหายใจเข้า-ออกลึกๆ จะช่วยลดความเครียดลงได้ วิธีการขจัดความเครียดที่เกิดขึ้นพิจารณาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
1. ทางด้านร่างกาย คือ การกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาสุขภาพร่างกาย
2. ทางด้านจิตใจ คือ การปรับสภาพจิตใจของตัวเราเอง รู้จักปรับเข้ากับปัญหา ยอมรับในสิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้
3. ทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ ถ้ามีภาระงานมากจนรับไม่ไหว ควรทำงานให้น้อยลง รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและแบ่งเวลาให้กับตัวเอง
วิธีการผ่อนคลายความเครียด
สำหรับในผู้สูงอายุนั้นอาจจะใช้ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำและสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำ สำหรับผู้ที่มีภาระงานประจำมาก ควรให้เวลากับตัวเองบ้าง จัดเวลาให้เหมาะสม หาที่ปรึกษาหรือเพื่อนเพื่อรับฟังหรือช่วยตัดสินใจในบางเรื่อง รวมทั้งยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นต้น

วิธีการคลายเครียด
ทางด้านจิตวิทยาถือว่าความเครียดก็เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้เรามีการตื่นตัวอยู่เสมอ มีการป้องกันตัวเอง และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีความเครียดเลยก็จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดความเครียดคงจะเป็นไปไม่ได้ จึงควรแบ่งเวลา หาเวลาให้กับตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออาจใช้วิธีการทางศาสนาช่วยโดยการนั่งสมาธิ

โดยปกติ ผู้สูงอายุสามารถเลือกกลวิธีในการจัดการกับความเครียดของตนได้ อย่างน้อย 10 วิธี ดังนี้

1. ฟังเพลง 
หามุมสงบ  โดยการนั่งปล่อยใจให้ล่องลอยอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วฟังเพลง เบา ๆ โดยเฉพาะเพลงจำพวกสร้างเสริมสมาธิ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีให้เลือกหลากหลายแบบตามความต้องการ ทั้งเสียงของดนตรี บรรเลงหรือเสียงธรรมชาติ จำพวกเสียงคลื่น.เสียงน้ำตก.เสียงนกร้อง รับรองว่าจะช่วยสร้างสมาธิให้กลับคืนสู่สมองและจิตใจได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ได้

2. ชมภาพยนตร์  
ขอแนะนำให้ตีตั๋วดูหนังดีๆ สักรอบ เพราะการไปดูหนังเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่งที่จะปลดปล่อยความรู้สึกให้ ล่องลอยอย่างเป็นอิสระไม่จมอยู่กับปัญหา แถมระบายความอัดอั้นตันใจได้อย่างเห็นผล แต่ต้องถามตัวเองก่อนด้วยว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ไหน เช่น ถ้าอยากร้องไห้ก็ไปดูหนังรักเศร้าเคล้าน้ำตาแล้วก็ร้องไห้ออกมาให้พอ หรือถ้าเครียดจัดก็จงไปดูหนังตลกแล้วหัวเราะให้หลุดโลกไปเลย

3. โทรหาเพื่อนรู้ใจ  
อย่าคิดว่าตัวเองจะแก้ปัญหาทุกปัญหาได้ดีไปทั้งหมด หัวใจแม้จะแกร่งเพียงใดก็ยังต้องการที่พึ่งพิงเสมอ ยกหูโทรศัพท์หาเพื่อนรู้ใจสันคนแล้วระบายความรู้สึกให้เพื่อนได้รับรู้ เพราะการมีคนรับฟังและให้คำปรึกษา จะทำให้ชีวิตที่ไม่สมดุลเข้าที่เข้าทางมากขึ้น อย่างน้อยก็ยังรู้สึกว่า ไม่ได้แบกปัญหาอยู่คนเดียวในโลก

4. เขียนไดอารี  การเขียนไดอารี่เปรียบเสมือนการเปิดประตูอารมณ์ที่ปล่อยให้ความอัดอั้นตันใจต่างๆ ได้ไหลลงสู่หน้ากระดาษอย่างเป็นอิสระและเป็นส่วนตัวที่สุด เพราะการถ่ายเทความรู้สึกในใจออกมา จะทำให้จิตใจปรับสมดุลได้เร็วขื้น อีกทั้งระหว่างการเขียนไดอารี่นั้นยังถือเป็นการทบทวนความรู้สึกตัวเองที่ดี ที่สุดด้วย ส่วนข้อดีสุดเลิศอีกข้อก็คือ ไดอารี่เป็นเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ที่สุด เพราะรับฟังเราเสมอและไม่เคยเอาความลับไปบอกต่อ

5. พลังแห่งการสัมผัส  
ลองมองหาใครสักคนช่วยโอบกอดหรือสัมผัสเบา ๆ เวลารู้สึกเหนื่อยล้า เพราะร่างกายคนเราเวลาถูกสัมผัส จะทำให้เกิดฮอร์โมนที่ชื่อ "อ๊อกซี่โทชิน" ซึ่งมีผลในการลดระดับความเหนื่อยและความเครียด ช่วยให้ร่างกายที่กำลังอ่อนล้ารู้สึกผ่อนคลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

6. สร้างอารมณ์ขัน   พยายามมองหาเพื่อนที่มีอารมณ์ขัน
ช่วยกระตุ้นจิตใจที่แสนเหนื่อยหน่ายให้หัวเราะได้อีกครั้ง เพราะคนที่หัวเราะง่ายจะมีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากการหัวเราะจะช่วยลดความดันโลหิตและระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลง (ฮอร์โมนคอร์ติซอล = ฮอร์โมนแสดงความเหนื่อยล้าในกระแสเลือด) แถมยังช่วยเสริมสร้างระดับของ "อิมโมโนโกลบูลินเอ" ซึ่งเป็นสารแอนติบอดีที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายอีกด้วยนะ เพราะฉะนั้นหัวเราะเข้าไว้ แล้วจะดีเอง

7. สูดกลิ่นหอม  รู้หรือไม่ว่า.กลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์
มีผลในการช่วยปลุกประสาทสัมผัสให้สดชื่นตื่นตัว แถมยังกระตุ้นพลังงานในจิตใจได้เป็นอย่างดี เวลาเครียด ๆ ก็ลองสูดกลิ่นหอมของดอกไม้สิ อย่างกลิ่นกุหลาบ มะลิ ลาเวนเดอร์ หรือจะหยดน้ำมันหอมระเหยในน้ำอุ่นกำลังดี แล้วนอนแช่ตัวให้เพลินสักครึ่งชั่วโมงก็ได้ กลิ่นหอมจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

8. ไปตากอากาศ  หาเวลาหลบไปสูดอากาศบริสุทธิ์กับชีวิตท่ามกลางธรรมชาติสักพัก  หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ปล่อยสมองให้ว่างที่สุด แล้วก็นอนให้มากที่สุดเท่าที่อยากจะนอน เพราะบางทีความรู้สึกเหนื่อยล้าและหดหู่แบบไม่ทราบสาเหตุมักมาจาก ชีวิตที่ยุ่งเหยิงจนเกินไป เพราะฉะนั้นหลบไปนอนตากน้ำค้างดูดาวเสียบ้าง หัวใจจะได้ชาร์จพลังได้ดีขึ้น

9. หาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน   
ลองหาสัตว์เลี้ยงสักตัวมาเป็นเพื่อนเล่น เพราะการให้เวลากับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด คุยเล่น หยอกล้อกับมันเสียบ้าง จะช่วยให้จิตใจที่ฟุ้งซ่าน สงบลงได้ แถมรู้จักการให้และมองโลกในแง่ดีมากขึ้นอีกต่างหาก ที่สำคัญยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย

10. จินตนาการแสนสุข  
อีกทางเลือกสำหรับการบรรเทาความหดหู่ในส่วนลึก เป็นการดึงตัวเองออกจากโลกปัจจุบัน ทำได้โดยหลับตาแล้วหายใจลึก ๆ จากนั้นก็สร้างจินตนาการถึงภาพทิวทัศน์สบายๆ เช่น น้ำตก ภูเขา หรือแม้แต่ความหลังอันแสนสุขที่เคยมีการดึงความสุขจากจินตนาการมาใช้จะ ทำ ให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในหัวใจ และยังช่วยสลายความเครียดข้างในได้เป็นอย่างดี ทำแบบนี้เงียบๆ สัก 5 นาที

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้สูงอายุสามารถบริหารจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ 4 วิธี คือ วิธีแรก เป็นการคลายเครียดที่เราแต่ละคนปฏิบัติกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านนิยาย ไปท่องเที่ยว ไปชอบปิ้ง ไปเสริมสวย ไปเล่นกีฬา ออกกำลังกาย พูดคุยกับคนรู้ใจ ทำงานอดิเรก เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น วิธีที่สอง เป็นวิธีการคลายเครียดโดยการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะปัญหาจะเป็นบ่อเกิดแห่งความเครียด หากแก้ปัญหาได้สำเร็จ ความเครียดก็จะหมดไปด้วย วิธีที่สาม คือการปรับเปลี่ยนความคิด เนื่องจากความเครียดจะเกิดจากการที่คนเราหมกมุ่นครุ่นคิดแต่ในเรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เรื่องเศร้า เรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจนั่นเอง ถ้าฝึกคิดในทางบวกเสียบ้าง มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน คิดถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตให้บ่อยขึ้นกว่าเดิม คิดถึงความปรารถนาดีของคนอื่นที่มีต่อเราก็จะช่วยให้เป็นคนที่เครียดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้นได้ วิธีสุดท้าย คือ การฝึกคลายเครียดด้วยวิธีทางจิตวิทยา เช่น ฝึกการหายใจ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ เป็นต้น


บุคคลเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัว ปรับใจต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าบุคคลวัยอื่น โดยมีรายงานว่าประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเคยมีประสบการณ์ของการมีภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม บุคคลทั่วไปมักเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้สูงอายุ จึงมักละเลย ไม่สนใจ ทำให้ผู้สูงอายุยิ่งมีความทุกข์ทรมานมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดได้ หากผู้สูงอายุได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจก่อนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือทราบแนวทางที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงหรือป้องกัน รวมทั้งทราบแนวทางการดูแลตนเองเมื่อตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณค่า มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในทางตรงกันข้าม หากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า จนต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ มิเช่นนั้นอาจเกิดผลเสียหายที่รุนแรงทั้งต่อตัวผู้สูงอายุเองและบุคคลรอบข้าง


   ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่งที่ตอบสนองต่อความผิดหวัง ความสูญเสีย หรือการถวิลหาสิ่งที่ขาดหายไป เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่มีความสุข จิตใจหม่นหมอง หดหู่หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ รอบตัว  แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตนเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น ถ้ามีอาการรุนแรงจะมีอันตรายจากการทำร้ายตนเองได้ มีรายงานการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 90 มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่แสดงออกด้วยการหงุดหงิดโมโหง่าย ทะเลาะกับบุตรหลานบ่อยครั้ง น้อยใจง่าย มักมาพบแพทย์ด้วยอาการใจสั่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ หรือท้องอืด ท้องเฟ้อ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่รุนแรง 

   ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งสาเหตุทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

1. สาเหตุทางด้านร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่พันธุกรรมหรือการมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าในครอบครัว  ความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางตัวในสมอง การมีพยาธิสภาพในสมองเช่นมีการเสื่อมของเซลล์ประสาท หรือมีการฝ่อของสมองบางส่วน หรือเป็นโรคทางกายที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคต่อมธัยรอยด์ ฯลฯ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น 

2. สาเหตุทางด้านจิตใจที่พบบ่อย ได้แก่ การไม่สามารถปรับตัวต่อการสูญเสีย เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความ ผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ หรือมีความเครียดในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คู่ชีวิต ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท การสูญเสียหน้าที่การงาน บทบาทในครอบครัว การย้ายที่อยู่ เจ็บป่วยทางกายที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด หรือเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคข้อ โรคมะเร็ง เป็นต้น บุตรหลานไม่ปรองดองกัน ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกหลาน เนื่องจากเห็นว่าอายุมากแล้ว ไม่ทันต่อเหตุการณ์ หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีบุคลิกภาพดั้งเดิมเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองในด้านลบบ่อยๆ หรือชอบพึ่งพาผู้อื่น 

3. สาเหตุทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมที่พบบ่อย ได้แก่ การปรับตัวไม่ได้ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปตามยุคสมัย การประสบความเครียดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน การทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัว เป็นต้น

แนวทางการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
 
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันหรือรับมือกับสาเหตุของภาวะซึมเศร้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังต่อไปนี้ 

1. การดูแลตนเองทางด้านร่างกาย
 
1.1การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่เหมาะสมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการบริโภคอาหารสด การรับประทานอาหาร ผัก และผลไม้สดจำนวนมากๆ ทำให้สุขภาพร่างกายสดชื่นตลอดวัน รวมทั้งการรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา หากร่างกายไม่ได้รับอาหารที่พอเพียงจะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลีย และไม่มีแรง 

1.2 ออกกำลังกายทุกวัน การออกกำลังกายเป็นประจำโดยใช้วิธีที่ง่ายๆ เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ เช่นการเดินเล่นในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ตอนเช้าหรือตอนเย็น ฝึกออกกำลังกายแบบชี่กง ไท้เก๊ก รำกระบอง หรือว่ายน้ำ จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายได้รับการเติมพลังอยู่ตลอดเวลา และทำงานประสานกันได้ดีทั้งระบบประสาท กล้ามเนื้อ และจิตใจ 

1.3 เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำปี หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายเช่นความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือความผิดปกติอื่นๆ จะได้รีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรง 

2. การดูแลตนเองทางด้านจิตใจ
 
2.1 สร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในความดี ด้วยการมีความคิดดี พูดดี และทำดี จะช่วยให้เรามีความสุข  จิตใจแจ่มใสไม่ขุ่นมัว อารมณ์ดี 

2.2 ตระหนักในคุณค่าของตนเองที่มีต่อบุตรหลาน และบุคคลอื่น ชื่นชมและภาคภูมิใจในตนเอง อย่ามองตนเองว่าไร้ค่า หรือรู้สึกท้อแท้ 

2.3 ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย จะทำให้ระบบประสาททำงานอย่างราบรื่น ไม่ตึงเครียด และวิตกกังวล 

2.4 ไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ว่าง หางานอดิเรกหรือสิ่งที่ตนสนใจอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสทำเมื่ออยู่ในช่วงวัยที่ต้องทำงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งรายได้หรือมีวิธีการคลายเครียดต่างๆ 

2.5 ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทำอาหารให้บุตรหลานรับประทาน  ไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ไปทำบุญที่วัด ดูโทรทัศน์ หรือออกกำลังกายร่วมกัน เป็นต้น 

2.6 สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตนเองด้วยการอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม ด้วยการทำบุญ การบริจาคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น การช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยการให้คำแนะนำ ให้คำอวยพร ให้กำลังใจ หรือแสดงความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่น จะนำมาซึ่งความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา รู้สึก กระชุ่มกระชวย 

2.7 แสวงหาความสงบสุขทางใจ ด้วยการฝึกทำสมาธิ สวดมนตร์ ศึกษาธรรมะจากหนังสือหรือสนทนาธรรมกับผู้รู้ จะช่วยให้จิตใจให้สงบ เข้าใจธรรมชาติหรือความเป็นจริงของชีวิต ไม่ฟุ้งซ่าน ปล่อยวางปัญหาต่างๆ 

2.8 อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น หาโอกาสทำงานในสวนดอกไม้หรือสวนผัก สูดอากาศบริสุทธิ์จากป่าเขาลำเนาไพร สัมผัสสายลมและแสงแดดบ้าง เพื่อผ่อนคลายจิตใจ 

2.9 สำหรับผู้ที่อยู่คนเดียวควรหาสัตว์เลี้ยงไว้รับผิดชอบดูแล ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นกแก้ว เต่า ปลาทอง ก็ตาม เพื่อให้ความรักและการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น 

3. การดูแลตนเองทางด้านสังคม
 
   การเข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น เช่นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยให้มีเพื่อนใหม่ๆ ได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย คลายความอ้างว้าง 

   อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านได้พยายามปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันภาวะซึมเศร้าดังคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ปรากฏว่ายังเกิดภาวะซึมเศร้าได้อีก ก็อย่าได้ตกใจ เพราะอาจเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง หรือเกิดเหตุการณ์ในชีวิตที่ท่านไม่สามารถควบคุมได้ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า มีดังต่อไปนี้ 

1.หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวเมื่อมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้น ควรพูดคุยกับผู้อื่นเพื่อผ่อนคลายความเครียด เกิดความเพลิดเพลิน ไม่เงียบเหงา 

2.ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น 

3.ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ ไปวัด หรือออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น 

4.รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยไม่ต้องอาย เนื่องจากโรคนี้ถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้ดีขึ้น และหายขาดได้ การรักษาหลัก โดยมากแพทย์จะให้รับประทานยาต้านเศร้า เพื่อรักษาและป้องกันอาการซึมเศร้า ยาต้านเศร้าอาจมีอาการข้างเคียง ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ง่วงนอน ยาบางตัวอาจทำให้นอนไม่หลับ ถ้ารับประทานยาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ในรายที่เคยป่วยมาก่อนอาจต้องรับประทานยาอย่างน้อย 2 ปี นอกจากยายังอาจมีการทำจิตบำบัดแบบประคับประคองด้านจิตใจ การทำพฤติกรรมบำบัดเพื่อแก้ความคิดในแง่ร้ายต่อตนเอง การให้คำปรึกษา การทำครอบครัวบำบัด ร่วมกับการดูแลและช่วยเหลือทางจิตใจจากสังคม ครอบครัว และคนรอบข้าง 

   กล่าวโดยสรุป ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุถือเป็นการป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีการปฏิบัติตนทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสม การเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจก่อนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยเฉพาะการทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือการสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิต เพราะการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามวัยได้จะช่วยให้สามารถปรับตัวต่อความสูญเสียและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงได้ แต่หากเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นแล้ว ควรรีบมาพบจิตแพทย์ทันทีที่สังเกตพบความผิดปกติ เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้น หรือหายได้ แต่หากปล่อยไว้เนิ่นนาน ไม่ทำการรักษาเพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นความอ่อนแอของตนเอง จะทำให้ระยะการป่วยยาวนานขึ้นโอกาสที่จะป่วยซ้ำหรือกำเริบอีกจะมีสูง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น